Sunday, March 30, 2008

ความฟุ้งซ่าน


ความฟุ้งซ่าน คือ ความรู้สึกว่าเรากำลังคิดเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับบุคคลหรือสถานที่ การ
กำหนดความฟุ้งซ่าน คือ การกำหนดความรู้สึกที่กำลังคิดอยู่นั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การกำหนดจิตที่คิด
ฟุ้งซ่านนั่นเอง
เมื่อเรารู้สึกชอบ จิตก็จะรับรู้สภาวะที่พอใจ แต่เมื่อรู้สึกโกรธ จิตจะรับรู้สภาวะที่ไม่พอใจ จึงควรกำหนด
สภาวะเหล่านั้นว่า “ชอบหนอ ๆ” หรือ “โกรธหนอ ๆ” ความฟุ้งซ่านเป็นอาการทางจิตเหมือนความโลภและ
ความโกรธ เวลากำหนดความฟุ้งซ่านจึงควรรับรู้อาการซัดส่ายของจิต ไม่ใช่รับรู้เรื่องที่คิด หรือสักแต่บริกรรม
ขณะกำหนดความฟุ้งซ่านอยู่ จิตของเราต้องรับรู้ความรู้สึกที่คิดฟุ้งซ่าน ไม่ใช่รับรู้บัญญัติคือเรื่องที่
กำลังคิดอยู่ ความรู้สึกที่คิดฟุ้งซ่านนั้นเป็นสภาวธรรม ส่วนเรื่องที่กำลังคิดอยู่ เป็นบัญญัติ อารมณ์ของสติใน
การปฏิบัติต้องเป็นสภาวธรรมเท่านั้น ไม่ใช่บัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ขณะที่เราเห็นอาหารที่ชอบ อาการ
ชอบย่อมเกิดขึ้น อาการชอบนี้เป็นสภาวธรรมความโลภ อาหารที่ชอบเป็นบัญญัติ เราต้องกำหนดที่อาการชอบ

ไม่ใช่อาหาร เมื่อเห็นอาหารที่ไม่ชอบ อาการไม่ชอบย่อมเกิดขึ้น อาการไม่ชอบนี้เป็นสภาวธรรมความโกรธ
อาหารที่ไม่ชอบเป็นบัญญัติ เราต้องกำหนดที่อาการไม่ชอบ ไม่ใช่อาหาร ในขณะที่คิดถึงบ้าน บุคคล สิ่งของ
เรื่องราวที่คิดอยู่เป็นบัญญัติ ส่วนอาการคิด เป็นสภาวธรรมความฟุ้งซ่าน เราต้องกำหนดที่อาการคิด ไม่ใช่
เรื่องราวที่กำลังคิดอยู่
อาการคิดฟุ้งซ่านนั้นต่างจากอาการชอบและไม่ชอบ เพราะเมื่อคิดเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเราจะรับรู้
บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดนั้นทันที ดังนั้น การกำหนดรู้สภาวะฟุ้งซ่านจึงทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม เบื้องแรกพึง
กำหนดว่า “คิดหนอ ๆ” โดยรับรู้เรื่องราวผสมไปด้วย ต่อเมื่อมีสมาธิเพิ่มขึ้น เมื่อจิตซัดส่ายออกไปแล้วเรา
กำหนดว่า “คิดหนอ ๆ” ทันทีได้ ขณะนั้นจะไม่รู้ว่ากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ นี้ จึงเป็นการรับรู้สภาวะฟุ้งซ่านอย่าง
แท้จริง
จิตของเรารับรู้อารมณ์เพียงอย่างเดียว เมื่อเรามีสติรู้เท่าทันอาการคิด เรื่องที่คิดอยู่ก็จะหายไปเอง ไม่มี
ใครคิดเรื่อง ๒ เรื่องในขณะเดียวกันได้ วิธีกำหนดความฟุ้งซ่านมีดังนี้
• อย่าตามคิดเรื่องราว
เรื่องที่คิดเป็นบัญญัติที่ไม่มีจริงโดยสภาวะ จึงไม่ควรตามคิดเรื่องที่คิดฟุ้งซ่านอยู่
• อย่าสักแต่บริกรรม โดยไม่รับรู้อาการซัดส่ายของจิต
คำบริกรรมช่วยให้เรารู้ตัวว่าระลึกรู้ปัจจุบันอยู่ แต่อย่าให้คำบริกรรมครอบงำจิต โดยสักแต่บริกรรม
• อย่าปัดความฟุ้งซ่านออกไปโดยไม่กำหนด
ความฟุ้งซ่านเป็นหนึ่งในอารมณ์กรรมฐานที่พึงกำหนดรู้ เรียกว่า จิตตานุปัสสนา (การตามรู้จิต) เป็น
ประตูบานหนึ่งในประตู ๔ บานที่ทอดไปสู่พระนิพพานที่เรียกว่า อมตมหานคร ประตู ๔ บานนั้น คือ กาย (กอง
รูป), เวทนา (ความรู้สึก), จิต และสภาวะ ดังนั้น จึงควรสำเหนียกในใจว่า ฟุ้งไม่กลัว กลัวไม่กำหนด
บางท่านดึงจิตจากความฟุ้งซ่านให้กลับมารับรู้ปัจจุบัน การกระทำเช่นนี้จะส่งผลให้เหนื่อยและเครียด
กับการปฏิบัติ การเจริญสตินั้นคือการสังเกตดูโดยยอมรับทุกสิ่งที่มาปรากฏ การปัดความฟุ้งซ่านออกไปจึงไม่
ถูกต้อง
ผู้ที่ไม่คิดฟุ้งซ่านมีจำพวกเดียว คือพระอรหันต์ ดังนั้น อย่ากลัวความฟุ้งซ่าน เรากำหนดรู้ความฟุ้งซ่าน
เพื่อให้รับรู้สภาวะคืออาการที่จิตซัดส่ายออกไปจากปัจจุบัน เมื่อกำหนดบ่อย ๆ เช่นนี้ ความฟุ้งซ่านจะลดน้อย
ไปเอง เหมือนการดูหนังฟิล์มขาดบ่อยๆ เราจะไม่อยากดู หรือเหมือนม้าที่ถูกกระชากบังเหียนบ่อย ๆ ในที่สุด
จะวิ่งไปตามคำสั่งของนายสารถี ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่รู้สึกตัวว่าคิดฟุ้งซ่าน พึงกำหนดรู้ทันทีอย่าปล่อยให้ถูก
ความคิดครอบงำ ต่อมาเราจะรับรู้ความฟุ้งซ่านได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จากประโยคเป็นวลี พยางค์ ในที่สุดก็จะรับรู้
อาการซัดส่ายของจิต โดยไม่รับรู้เรื่องราวที่กำลังคิดอยู่
• ควรกำหนดรู้ความฟุ้งซ่านจนกว่าจะหายไป
ส่วนใหญ่นักปฏิบัติมักกำหนดรู้ความฟุ้งซ่านราว ๔ - ๕ ครั้ง ความฟุ้งซ่านก็จะหายไปเอง บางคราวก็
กำหนดนาน ๑๐-๒๐ ครั้ง แต่เมื่อมีสมาธิมากขึ้นจะกำหนดเพียง ๑ - ๒ ครั้ง
• ควรกำหนดตามอาการที่คิดฟุ้งอยู่ เช่น “ชอบหนอ” “โกรธหนอ” “ห่วงหนอ”
ถ้ามีความชอบเกิดร่วมกับความฟุ้ง พึงกำหนดว่า “ชอบหนอๆ” ถ้ามีความโกรธเกิดร่วม พึงกำหนดว่า
“โกรธหนอ ๆ” ถ้ามีอาการห่วง กังวล พึงกำหนดว่า “ห่วงหนอ ๆ” ตามอาการนั้นๆ ในกรณีนี้ความฟุ้งซ่านเกิด
ร่วมกับความโลภหรือความโกรธ แต่ความโลภและความโกรธเด่นชัดกว่า จึงไม่ควรกำหนดว่า “คิดหนอ ๆ”
ในขณะนั้น เพราะไม่ตรงกับอาการ ในข้อนี้ความฟุ้งซ่านเหมือนแสงจันทร์ในเวลากลางวัน ส่วนความโลภและ
ความโกรธเหมือนแสงอาทิตย์ที่เด่นชัดจนกลบแสงจันทร์
การกำหนดว่า “ชอบหนอ” “โกรธหนอ” ไม่ทำให้เราชอบหรือโกรธเลย เพราะจิตมีสติระลึกรู้สภาวะชอบ
หรือโกรธ เมื่อรู้เท่าทันกิเลส กิเลสก็ครอบงำจิตไม่ได้ ความโลภและความโกรธจะค่อย ๆ ลดน้อยลงจนกระทั่ง
หายไป แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทันกิเลส คิดปรุงแต่งสิ่งที่คิดชอบหรือโกรธอันเป็นสมมุติบัญญัติ กิเลสก็จะเพิ่มพูนมาก
ขึ้น
• ไม่ควรใช้คำบริกรรมสองอย่างว่า “คิดหนอ” “ฟุ้งหนอ” คู่กันไป
การใช้คำบริกรรมว่า “คิดหนอ” “ฟุ้งหนอ” มักทำให้จิตรับรู้คำบริกรรมเป็นอารมณ์มากกว่าสภาวะ
ฟุ้งซ่าน จึงควรบริกรรมว่า “คิดหนอ” ในกรณีที่รับรู้เรื่องราว หรือบริกรรมว่า “ฟุ้งหนอ” ในเมื่อยังไม่รับรู้ว่าคิดถึง
เรื่องอะไร
• ถ้าลืมกำหนดความฟุ้งซ่านแล้วไประลึกรู้ปัจจุบัน พึงกำหนดทวนว่า “คิดหนอ ๆ” ๒-๓ ครั้ง
การกำหนดทวนนี้ แม้จะไม่ใช่ระลึกรู้ปัจจุบันจริง ๆ แต่เป็นเทคนิคช่วยให้เรากำหนดรู้ความฟุ้งซ่านได้
อย่างรวดเร็วในโอกาสต่อไป

No comments: