Sunday, March 30, 2008

อิริยาบถย่อย


อิริยาบถย่อย คือ อาการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการยืน เดิน นั่ง นอน ซึ่ง
เรียกว่าอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ กล่าวคือ เวลาลุกขึ้นจากที่นอน พับผ้าห่ม ล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ
รับประทานอาหาร เป็นต้น เป็นอาการของอิริยาบถย่อยทั้งสิ้น
นักปฏิบัติพึงเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยช้า ๆ เหมือนคนป่วยหนัก และกำหนดรู้ตามอาการไปด้วยทุกๆ
ระยะที่เคลื่อนไหว จะทำให้รับรู้สภาวะเบาหนักได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา เหมือนใบพัดที่หมุนช้าๆ
เห็นชัดว่ามีใบพัดกี่ใบหมุนอยู่ มีภาษิตบทหนึ่งที่พระกัจจายนเถระกล่าวไว้ว่า
แม้มีตาก็ควรทำเป็นคนบอด แม้มีหูก็ควรทำเป็นคนหนวก แม้มีปัญญาก็ควรทำเป็นคนใบ้ แม้มี
พละกำลังก็ควรทำเป็นคนไร้กำลัง
ขณะเริ่มปฏิบัติในวันแรกๆ นักปฏิบัติพึงเคลื่อนไหวช้า ๆ พอที่จะบริกรรมได้สัก ๕ ครั้งก่อน ในทุก
อิริยาบถที่เหยียดแขน คู้แขน เหยียดมือ คู้มือ ฯลฯ เมื่อผ่านไป ๒-๓ วันแล้วจิตจะมีสมาธิมากขึ้น จึงควรเพิ่ม
การกำหนดโดยบริกรรมให้ได้ ๑๐ ครั้งเป็นอย่างน้อย จะทำให้อาการเคลื่อนไหวช้ากว่าเดิม ๒ เท่า เมื่อเป็นดังนี้
เราจะรับรู้สภาวะหนักเบาได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
• พึงตามรู้สภาวะเบาในขณะยกมือ ยื่นมือ ลุกขึ้น ฯลฯ และตามรู้สภาวะหนักในขณะวางมือ ย่อตัว
ฯลฯ โดยเคลื่อนไหวช้า ๆ
• ขณะทำธุระส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ พึงทำตามปกติ
ไม่ช้ามาก โดยกำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งในแต่ละอาการเคลื่อนไหว
• คำบริกรรมที่ใช้มากในระหว่างปฏิบัติ คือ
- ขึ้นหนอ ใช้ในขณะยกมือ ลุกขึ้น
๑๖
- ลงหนอ ใช้ในขณะวางมือ ย่อตัวลง
- เหยียดหนอ ใช้ในขณะยื่นมือ ยื่นขา ยืดตัว
- คู้หนอ ใช้ในขณะหดมือ หดขา หดตัว
- เคลื่อนหนอ ใช้ในขณะเคลื่อนเป็นแนวนอนในเวลาพับผ้า หรือเมื่อไม่รู้ว่าจะบริกรรมอย่างไร ก็พึง
บริกรรมว่า “เคลื่อนหนอ”
• พึงกำหนดรู้ความฟุ้งซ่านในเวลาเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยอีกด้วย
• ขณะแปรงฟัน พึงกำหนดรู้สภาวะการเหยียด คู้ ของแขนและร่างกายก่อน แล้วตามรู้อาการสัมผัส
ที่ขนแปรงถูกกับฟัน บริกรรมว่า “แปรงหนอ ๆ” หรือ “ถูกหนอ ๆ” อีกนัยหนึ่ง พึงตามรู้อาการเคลื่อนไหวของ
มือ บริกรรมว่า “เคลื่อนหนอ ๆ” ก็ได้
• ขณะปิด - เปิดประตู ไม่พึงบริกรรมว่า “ปิดหนอ” “เปิดหนอ” เพราะลักษณะปิด - เปิดเกี่ยวกับ
ประตู ไม่ใช่อาการของตัวเรา ขณะนั้นพึงบริกรรมว่า “เหยียดหนอๆ” “หมุนหนอ ” “ดันหนอๆ” เป็นต้น ตาม
อาการนั้น ๆ
• ขณะดื่มน้ำ พึงบริกรรมว่า “ดูดหนอๆ” และ “กลืนหนอ ๆ” ตามอาการ
• ขณะรับประทานอาหาร ควรใช้มือขวาจับช้อนไว้เสมอ วางมือซ้ายลงบนโต๊ะหรือข้างกาย เมื่อ
ต้องการจับส้อมจึงยกมือซ้ายไปจับ ถ้าวางมือขวาลงจากช้อนจะทำให้เสียเวลายื่นมือไปจับช้อนอีก และควร
เคลื่อนไหวมือทีละข้างในขณะรับประทาน ทั้งนี้เพื่อให้กำหนดอาการเคลื่อนไหวได้โดยละเอียด มีรายละเอียด
ดังต่อไปนี้ คือ
- เมื่อยกมือขึ้น บริกรรมว่า ”ขึ้นหนอ ๆ” หรือ “ยกหนอ ๆ”
- เมื่อเหยียดมือไปข้างหน้า บริกรรมว่า “เหยียดหนอ ๆ” หรือ “ยื่นหนอ ๆ”
- เมื่อวางมือลง บริกรรมว่า “ลงหนอ ๆ” หรือ “วางหนอ ๆ”
- เมื่อมือถูกช้อน บริกรรมว่า “ถูกหนอ”
- เมื่อยื่นมือไปตักอาหาร บริกรรมว่า “เหยียดหนอ ๆ”
- เมื่อตักอาหาร บริกรรมว่า “ตักหนอ ๆ”
- เมื่อยกมือขึ้น บริกรรมว่า “ขึ้นหนอ ๆ”
๑๗
- เมื่อคู้มือกลับ บริกรรมว่า “คู้หนอๆ”
- เมื่อยกมือขึ้น บริกรรมว่า “ขึ้นหนอ ๆ”
- เมื่ออ้าปาก บริกรรมว่า “อ้าหนอ”
- เมื่อใส่อาหาร บริกรรมว่า “ใส่หนอ ๆ”
- เมื่อดึงช้อนออก บริกรรมว่า “ดึงหนอ ๆ”
- เมื่อวางมือลง บริกรรมว่า “ลงหนอ ๆ”
- เมื่อมือถูกโต๊ะ บริกรรมว่า “ถูกหนอ”
- เมื่อเริ่มเคี้ยวอาหาร บริกรรมว่า “เคี้ยวหนอ ๆ”
- เมื่อกลืนอาหาร บริกรรมว่า “กลืนหนอ ๆ”
• ถ้ารสอาหารชัดเจน พึงกำหนดรู้ตามอาการว่า “หวานหนอๆ” “เผ็ดหนอๆ” ถ้าชอบหรือไม่ชอบรส
อาหาร พึงกำหนดว่า “ชอบหนอ ๆ” “ไม่ชอบหนอ ๆ” นักปฏิบัติที่รับรู้สภาวะเบาหนักเสมอตลอดเวลาที่เดิน
จงกรมและเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย ย่อมจะประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว เพราะรับรู้สภาวะ
โดยไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่ถ้ารับรู้อาการเคลื่อนไหวโดยไม่มีสภาวะเบาหนักเกิดร่วมด้วย จัดว่ายังไม่เกิดปัญญา
หยั่งเห็นสภาวะของรูปนามอย่างแท้จริง

No comments: